green and brown plant on water

ฝึกวิชชาธรรมกาย 18 กาย

เวลาอ่าน : 4 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”  

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์  2566

เรื่อง ฝึกวิชชาธรรมกาย 18 กาย

 โดย อาจารย์ คณานันท์  ทวีโภค

 

เมื่อเข้าสู่การเข้าปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน พื้นฐานในการปฏิบัติที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของอารมณ์ใจ การวางอารมณ์ใจของเรา วางอารมณ์เบาๆ อารมณ์ของเราไม่เพ่ง ไม่ตึง ไม่เครียด อารมณ์จิตเบาๆสบายๆ เมื่อวางอารมณ์เบาแล้ว ภายในจิตวางอารมณ์ให้มีความแย้มยิ้มเบิกบานอยู่ภายใน ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม นั่งก็รู้ว่านั่ง นอนก็รู้ว่านอน ยืนก็รู้ว่ายืน เดินก็รู้ว่าเดิน ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั้นคือ สติที่จำเป็นจะต้องมีการฝึกกำกับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม คือรู้สึกทั้งร่างกายของเรา การที่เรารู้สึกจากความรู้สึกในสติ รู้ในร่างกายทั้งหมด รู้ทั้งตัวเพื่อปล่อยวาง ปล่อยวางร่างกายที่ง่ายที่สุดก็คือผ่อนคลายร่างกาย หากใครเคยฝึกโยคะ จะมีท่าสำคัญก็คือ ศพอาสนะคืออยู่ในอริยาบทนอนทอดกาย ปล่อยวางร่างกาย การผ่อนคลายและปล่อยวางร่างกายนั้น ถือว่าเป็นการตัดร่างกายขันธ์ 5 โดยอาการโดยสภาวะ จะแตกต่างกับสภาวะที่เราวางตัดขันธ์ 5 โดยอาการพิจารณา เราปล่อยวางผ่อนคลาย ผ่อนคลายร่างกาย ปล่อยวางร่างกาย ตัดร่างกาย ตัดความสนใจในร่างกายได้มากเท่าไหร่ จิตยิ่งแยกจากกาย กายทิพย์แยกจากกายเนื้อ อทิสมานกายแยกจากขันธ์ 5 เมื่อไหร่ที่จิตหรืออทิสมานกายเราแยกจากร่างกายขันธ์ 5 คือการแยกรูปแยกนาม แยกได้มากเท่าไหร่ ใจเราจิตเรายิ่งตัดกิเลสได้มากเท่านั้น จิตเรายิ่งเกิดปัญญารู้เท่าทันในกองขันธ์อุปทานที่เราไปยึดมั่นถือมั่นเกาะในขันธ์ 5 ทั้งหลาย

ตอนนี้ให้เราฝึกผ่อนคลายปล่อยวางร่างกาย การผ่อนคลายปล่อยวางร่างกาย จากการรู้สึกตัวทั่วพร้อม ฝึกจนถึงขั้นหนึ่ง ผ่อนคลายทั่วร่างกายสูงสุด จิตจะรวมเข้าสู่ฌาน 4 ได้ทันทีได้เช่นกัน หากใครที่เคยมีประสบการณ์ตรงนี้แล้วฝึกจนให้เป็นเรื่องปกติวิสัย ผ่อนคลายร่างกายคือทิ้งกายคือตัดกาย มาอยู่ในสภาวะของกายทิพย์ อทิสมานกายหรือเข้าสู่กำลังของมโนมยิทธิได้ทันทีด้วยเช่นกัน ดังนั้นแต่ละจุดในการปฏิบัติ   อานาปานสติฝึกจนกระทั่งเราสามารถเข้าสู่ลมสบาย อารมณ์จิตสบายได้อย่างง่ายดาย จับลมปุ๊บอารมณ์จิตเราเบา อารมณ์จิตเราสบาย ลมละเอียด ฝึกอานาปานสติจนกระทั่งเข้าถึงฌาน 4 ในอาณาปานสติ เข้าฌาน 4 แค่ลัดนิ้วมือเดียว กำหนดจิตสงบนิ่งหยุด จิตนิ่งหยุดผ่องใส น้อมจิตทรงอารมณ์จิตตามนะ สงบ ผ่องใส นิ่งหยุด ใจเบาๆสบายๆ ในความนิ่งความหยุดเห็นในเอกัคคตาอารมณ์ รู้สึกถึงความสบายของความสงบ ถึงร่างกายเราหยุดหายใจ ในสภาวะที่เรียกว่าลมหายใจมันเกิดความสงบระงับ เราก็รู้อยู่ ทรงอารมณ์จิตนี้อยู่ นิ่งสงบ อุเบกขาต่อสิ่งที่มากระทบ จิตหยุดจากการปรุงแต่ง เอกัคคตารมณ์จิตรวมเป็นหนึ่ง

คราวนี้กำหนดต่อไปนะ ถอนจิตจากฌาน จากความสงบนิ่ง หายใจเข้าลึกๆ หายใจให้เป็นปกติ แต่ลมยังเป็นลมเบา ลมละเอียด ลมสบาย อันนี้เป็นช่วงฝึกนะ ให้เราจับอาการ จับสภาวะ จับความรู้สึก คราวนี้ในขณะเดียวกัน กลับมารู้สึกในความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วร่างกาย รู้สึกถึงมือ รู้สึกถึงก้นที่สัมผัสกับอาสนะเก้าอี้ที่นั่ง รู้สึกถึงปลายเท้า รู้สึกถึงศีรษะใบหน้า ลำตัว ทั่วร่างกายทั้งหมด เมื่อรู้สึกทั่วร่างกายแล้ว กำหนดผ่อนคลาย ทิ้งกาย ดูอาการ ดูสภาวะว่าเมื่อกำหนดทิ้งกายปล่อยวางร่างกายแล้ว ลมมันสงบไหม จิตมันนิ่งหยุดไหม กำหนดรู้ จดจำอารมณ์ว่า เมื่อเข้าสู่การเจริญพระกรรมฐาน นั่งเข้าที่ปุ๊บ เราทิ้งกายเข้าสู่ความนิ่งหยุดสงบฌาน 4 ทันทีก็ได้ ใครนิ่งกำหนดเห็นในตัวนิ่งในการทิ้งกายก็กำหนดนิ่งหยุดอยู่ต่อไป พอยิ่งหยุดแล้วมันไม่อยากคิดไม่อยากพูด มันอยู่กับความนิ่งความหยุด เมื่อไรที่เรากำหนดฝึกแบบทิ้งกายตัดกาย อาการของปิติก็เท่ากับเราก้าวข้ามสภาวะของปิติ จะเป็นอาการของตัวสั่นบ้าง อาการขนลุกขึ้นมาบ้าง อาการร่างกายขยายใหญ่บ้าง อาการต่างๆปิติทั้ง 5 เราก็ก้าวข้ามไป เข้าสู่ฌาน 4

คราวนี้เรากำหนดขยับกาย ยกมือขึ้น มือขวาขึ้นวาง ยกมือซ้ายขึ้นวาง กำหนดความรู้สึกเหยียดฝ่าเท้า เหยียดเท้า ขยับเท้า ขยับตัว ขยับไหล่ ขยับร่างกาย ขยับศีรษะ จากนั้นกำหนดต่อไป พอขยับรู้สึก กลับมารู้สึกตัวแล้ว คราวนี้กำหนดใหม่ฝึกใหม่ซ้ำ ผ่อนคลายปล่อยวางทิ้งกาย ทิ้งกายแล้วเราสังเกตดู จิตรวมลงสู่ฌาน 4 ที่เป็นฌาน 4 ใช้งานไหม สติรู้หมดทุกอย่าง แต่มันอยากนิ่ง อยากที่จะหยุด อยากที่จะสงบ ไม่อยากปรุงแต่ง ไม่อยากฟุ้งซ่าน ไม่อยากซัดส่าย ฌาน 4 ใช้งานปรากฏ กำหนดต่อไปว่า นับแต่นี้อธิษฐานเป็นวสี เมื่อไหร่ก็ตามที่เราผ่อนคลายปล่อยวางทิ้งกาย กำหนดจิตแยกรูปแยกนาม คราวนี้เมื่อเราตั้งจิตแล้ว ฝึกซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ขยับกาย ขยับมือ ขยับขา ขยับร่างกาย ขยับใบหน้าศีรษะ พอขยับเสร็จจนรู้สึกร่างกายมันมีการเคลื่อนไหว ทำเรียบร้อยแล้ว กลับมาผ่อนคลายปล่อยวางทิ้งกาย วางกายทิ้งกาย ผ่อนคลายปล่อยวาง นิ่งสงบ เมื่อทำได้แล้ว ก็ให้กำหนดรู้ ว่าการตัดร่างกายโดยอาการ การทิ้งกายก็เป็นเช่นนี้              คราวนี้จะมีข้อแตกต่างกับข้อที่เดินจิตต่อใน 2 ส่วนที่มีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ในเวลาที่เรากำหนดลมหายใจหยุด ลมหายใจที่เราเจริญอานาปานสติ พอเราเจริญอานาปานสติปุ๊บ จิตเมื่อเข้าถึงฌาน 4 ลมมันค่อยๆละเอียดเบาจนกระทั่งหยุด ในตัวหยุดนั้นถ้าเราเดินจิตต่อ ก็คือเดินจิตเข้าสู่กสิณจิต กสิณจิตก็คือย้ายการใช้สติกำหนดรู้อยู่กับลมหายใจ เพราะลมหายใจมันหยุดแล้ว มันไม่มีตัวจับ เราก็เดินจิตมากำหนดว่า ณ ตำแหน่งที่หยุดนั้น ปรากฏเป็นดวงแก้วขึ้น นิ่งหยุดจดจ่อกับดวงแก้ว ความสนใจ ไม่ต้องสนใจลม มาสนใจนิมิตของดวงแก้วว่า ดวงแก้วยิ่งสว่างยิ่งใส ใจยิ่งเอิบอิ่มยิ่งเป็นสุข ถ้าหากเดินเป็นวิชาธรรมกายต่อ ดวงแก้วที่สว่างขยายขึ้นเป็นขนาดเท่ากับไข่ไก่ กลมสว่าง ดวงแก้วที่กำหนดนั้นเรียกว่า ดวงปฐมมรรค ก็คือเริ่มก้าวเข้าสู่ มรรคแห่งการปฏิบัติ เพื่อมรรคผล ดวงแก้วที่สะอาดจากกิเลส

  • กำหนดเคลื่อนดวงแก้วนั้น ผู้ชายเคลื่อนเข้ารูจมูกขวา ผู้หญิงเคลื่อนเข้ารูจมูกซ้าย ศัพท์ภาษากรรมฐานโบราณเรียกว่าช่องของปราณ ที่เรียกว่าช่องลมหายใจ รูหายใจ รูจมูกขวาเรียกว่าสุริยะคาถา รูจมูกซ้ายที่เป็นทางโคจรเรียกว่าจันทรคาถา
  • กำหนดเคลื่อนดวงแก้วสว่าง เคลื่อนเข้าสู่โพรงจมูกขึ้นผ่านตาที่ 3 อยู่ภายในกลางศีรษะ แทงไประหว่างข้างศีรษะกับบริเวณกึ่งกลางหน้าผากตาที่ 3 ไปด้านหลัง กึ่งกลางภายในศีรษะพอดี ภาษาที่หลวงพ่อสดท่านสอนก็เรียกว่าแทงกั๊กอยู่ใจกลาง
  • จากนั้นเคลื่อนดวงปฐมมรรค ดวงแก้วขึ้นไปผ่านบริเวณใจกลางนั้นขึ้นไปอยู่กลางกระหม่อม พ้นจากกาย แล้ว
  • เคลื่อนกลับลงมาที่บริเวณแทงกั๊กภายในศีรษะ
  • จากนั้นเคลื่อนดวงแก้วต่อลงมาบริเวณคอของเรา ผ่านบริเวณหน้าอกลงไปที่ท้อง จากท้องลงไปที่ก้นกบฝีเย็บ
  • จากฝีเย็บกลับมาที่ท้องใต้สะดือ 2 นิ้ว ฐานที่ตั้งของจิต

 

หากใครสังเกตดูก็จะพบว่า ดังนั้นการเดินวิชาธรรมกายดวงปฐมมรรค ตั้งฐานของดวงแก้วไว้ที่ศูนย์กลางกาย มีความเหมือนกันอย่างยิ่งกับตำแหน่งของจักระ ดังนั้นวิชาต่างๆนั้นมีความเหมือนมีความสอดคล้องกัน เราก็กำหนดรู้เพื่อเชื่อมโยงยังประโยชน์ของการฝึกการปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์ครบถ้วนทั้งหมด กำหนดว่าดวงแก้วดวงกสิณนั้นมาอยู่ที่ศูนย์กลางกาย อยู่ภายในท้อง ถ้าภาษาลมปราณก็อยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่าตันเถียน จักระก็เรียกว่าอยู่จักระที่ 2 กำหนดนิ่งเห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงแก้วนั้น จากแก้วใสสว่าง จนสว่างทะลุกายเนื้อทั้งหมด ทะลุกายเนื้อเสร็จสว่างกระจายกลายเป็นเพชร กลายเป็นรุ้งประกายพรึก ทรงอารมณ์อยู่ในสภาวะที่เราประคองดวงจิตเป็นเพชรประกายพรึกนั้นอยู่ นิ่งหยุดกับดวงจิต ดวงแก้วที่เป็นประกายพรึกเป็นเพชรระยิบระยับนั้น  ทรงอารมณ์ไว้ ใจเอิบอิ่มผ่องใส แสงรัศมีของดวงแก้วดวงจิต สว่างแผ่กระจาย

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป ใจกลางดวงแก้วที่เป็นเพชร ปรากฏภาพองค์พระสว่างอยู่ภายใน อยู่ภายในดวงแก้ว กำหนดทรงอารมณ์ว่ามี องค์พระอยู่ภายในดวงแก้ว ดวงแก้วอยู่ที่ศูนย์กลางกายหรือใต้สะดือ 2 นิ้ว ฐานที่ตั้งของจิต หากเรานั่งอยู่ในท่าขัดสมาธิ ประสานฝ่ามือที่ตัก ฝ่ามือก็เหมือนกับเรากำลังประคองดวงแก้ว แต่ดวงแก้วอยู่ภายในกาย จิตสว่างตั้งมั่น ดวงแก้วและองค์พระแผ่สว่างกระจาย รัศมีแผ่ทะลุกายเนื้อออกมาทั้งหมด กำหนดทรงอารมณ์ไว้ ทรงอารมณ์จิตไว้ ทรงความผ่องใสของจิตไว้ ใจมีความเอิบอิ่มผ่องใส ความรู้สึก รู้สึกได้ว่าในท้องของเรามีดวงแก้วจริงๆ แสงสว่างฉัพพรรณรังสีขององค์พระที่อยู่ภายในดวงแก้วที่ศูนย์กลางกาย แผ่สว่าง เคล็ดลับนึงของวิชาธรรมกายก็คือ อธิษฐานที่ศูนย์กลางกาย อธิษฐานที่ศูนย์กลางกายก็คือ เมื่อตั้งฐาน ตั้งดวงแก้ว องค์พระอยู่ที่ศูนย์กลางกาย จิตทรงฌานสมาบัติ จิตทรงกำลังของกสิณและพุทธานุภาพ จิตก็ตั้งอธิษฐาน ทุกอย่างก็สำเร็จสมใจนึก นิ่งหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย สำหรับเคล็ดวิชาของธรรมกาย หลวงพ่อสดท่านก็สอนว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดก็คือหยุดจิตจากความโลภ โกรธ หลง คือหยุดจากกิเลส หยุดจากการปรุงแต่ง หยุดจากความฟุ้งซ่าน ก็คือสงบระงับจากนิวรณ์ 5  หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย หยุดและอธิษฐานสิ่งใดก็สำเร็จสมปรารถนา กำหนดให้เรานิ่งหยุด แสงสว่างรัศมี ฉัพพรรณรังสี รัศมีกำลังฤทธิ์แผ่สว่างคลุมกายทั้งหมด  จากนั้นกำหนดจิตต่อไป อธิษฐานขอให้ปรากฏภายในดวงแก้วที่มีองค์พระ ลึกเข้าไปในองค์พระที่อยู่ภายใน ปรากฏดวงแก้วลึกเข้าไป และลึกเข้าไปในดวงแก้วที่อยู่ในองค์พระเล็กๆที่อยู่ภายในท้อง ก็ปรากฏมีองค์พระลึกเข้าไปอีก ยิ่งลึกลงไปมากเท่าไหร่ ในดวงแก้วมีองค์พระ ในองค์พระมีดวงแก้ว ยิ่งลึก  ยิ่งละเอียดยิ่งละเอียด ยิ่งสว่าง กำหนดจิตลึกเข้าไป ในองค์พระมีดวงแก้ว ในดวงแก้วมีองค์พระ ลึกเข้าไป นิ่งหยุดอยู่กับการกำหนด เดินจิตลึกเข้าไปในละเอียด เข้าไปในความละเอียด ในดวงแก้วมีองค์พระ ในองค์พระมีดวงแก้ว ลึกเข้าไป จดจ่ออยู่

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป เมื่อเข้าไปในกลางของกลาง ยิ่งละเอียดลึกเข้าไปเรื่อยๆ ปรากฏภาพกาย กายที่เป็นกาย กายภายในของเราหรือกายทิพย์ปรากฏขึ้น กายทิพย์ของเราปรากฏขึ้น เป็นกายที่ใสสว่าง กำหนดรู้ในกายของกาย กายภายในที่เป็นกายทิพย์ เป็นเหมือนกับกายมนุษย์ อันนี้คือเดินตามแนวทางของวิชาธรรมกาย เป็นเรื่องของกายทิพย์เช่นกัน ธรรมกายก็เป็นเรื่องของกายทิพย์ มโนมยิทธิก็เป็นเรื่องของกายทิพย์ กายทิพย์ของกายมนุษย์กำหนดจิตอธิษฐาน ปรากฏกายมนุษย์หยาบขนาดเท่ากับกายเนื้อของเรา กำหนดจิตอธิษฐานต่อไป ปรากฏกายมนุษย์ละเอียด มีขนาดสูงใหญ่ขึ้น กว้าง 4 ศอก เวลาที่เราขัดสมาธิกลายเป็นกว้าง 4 ศอก กำหนดจิตต่อไป

  • จากกายมนุษย์ละเอียด ขยายใหญ่ขึ้น กำหนดทรงอารมณ์อยู่ในความเป็นกายทิพย์ เราทรงอารมณ์ไว้
  • จากนั้นขยายกายเข้าไปอีกเป็น 8 ศอก กำหนดจิตว่าเป็นกายเทวดาหยาบ
  • จากกายเทวดาหยาบ ขยายใหญ่ขึ้นไปอีก กลายเป็นกายเทวดาละเอียด
  • จากกายเทวดาละเอียดขยายใหญ่สว่างขึ้นไปอีก กลายเป็นกายพรหมหยาบ
  • จากกายพรหมหยาบขยายต่อไป กลายเป็นกายพรหมละเอียด
  • กายพรหมละเอียดขยายต่อไป เป็นกายอรูปพรหมหยาบ
  • จากกายอรูปพรหมหยาบขยายต่อไป กลายเป็นกายของอรูปพรหมละเอียด
  • กายของอรูปพรหมละเอียดขยายต่อไป กลายเป็นกายของพระโสดาปัตติมรรค
  • กายของพระโสดาปัตติมรรคขยายต่อไป กลายเป็นกายของพระโสดาปัตติผล
  • กายของพระโสดาปัตติผลขยายใหญ่ต่อไป กลายเป็นกายของพระสกิทาคามีมรรค
  • กายของพระสกิทาคามีมรรคขยายใหญ่ต่อไป กลายเป็นกายพระสกิทาคามีผล
  • กายของพระสกิทาคามีผลขยายต่อไป กลายเป็นกายพระอนาคามีมรรค
  • กายของพระอนาคามีมรรคขยายต่อไป กลายเป็นกายพระอนาคามีผล
  • กายพระอนาคามีผลขยายใหญ่ต่อไป กลายเป็นกายแห่งพระอรหัตมรรค
  • กายพระอรหัตมรรคขยายใหญ่ต่อไป กลายเป็นกายพระอรหัตผล

 

ทรงอารมณ์จิต กายขนาดใหญ่คลุมจักรวาล ตั้งจิตอธิษฐาน ขอยกอทิสมานกายในอารมณ์แห่งพระอนาคามีผล ขอยกกายทิพย์ขึ้นไปกราบสมเด็จองค์ปฐมบนพระนิพพาน เวลาที่หากเราฝึกหรือเรียนในวิชาของธรรมกาย เมื่อเดินจิตจนถึงกายพระอรหัตผลในวิชาที่ขยายกาย ไล่ขยายความชัดของกายยิ่งสว่างใหญ่ขึ้น ใสขึ้น กำลังบุญมารวมตัวขึ้น การกำหนดกายทั้งหมดนี้เรียกว่า 18 กาย เป็นวิชาขั้นสูงขึ้นของวิชาธรรมกาย หลังจากนั้นในวิชาธรรมกาย เวลาขึ้นไปบนพระนิพพาน ภาษาของวิชาธรรมกายจะเรียกสมเด็จองค์ปฐมว่าองค์ต้นธาตุต้นธรรม องค์ต้นธาตุต้นธรรมนั้นหมายถึงว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกที่เสด็จตรัสรู้และเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นต้นองค์แรก นั่นก็คือสมเด็จองค์ปฐม เวลาที่ยกขึ้นไปบนพระนิพพาน ก็จะปรากฏสภาวะเห็นพระพุทธเจ้าจำนวนมากมายมหาศาลเต็มไปหมด พระอรหันต์เต็มไปหมด สภาวะเหมือนกันกับเวลาเราอธิษฐานอาราธนาบารมี ดังนั้นเราจะเห็นความสอดคล้องเหมือนกันในเรื่องของการยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน แต่ในอารมณ์ของการปฏิบัติในวิชาธรรมกายนั้น ท่านจะใช้กำลังของ ในตัวสมถะในสมาบัติมากเป็นพิเศษ แต่ในส่วนของวิชามโนมยิทธิจะเน้นในเรื่องของการพิจารณาในวิปัสสนาญาณ การเจริญปัญญา การอาราธนาบารมีพระ และการยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานเป็นหลัก ดังนั้นเราสามารถที่จะทำความเข้าใจสอดประสานหลอมรวมดึงข้อดีข้อเด่นในทุกวิชาประสานรวมกันได้

เมื่อสักครู่ก็เป็นการฝึกในแบบมาตรฐานของวิชาธรรมกาย พอยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานได้ เราก็อธิษฐานให้กายที่เรายกอารมณ์แห่งพระอรหันต์ กายแห่งอรหัตผลทรงสภาวะเป็นกายพระวิสุทธิเทพ อยู่ท่ามกลางพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์บนพระนิพพาน มองเห็นทุกท่านมากมายมหาศาลเรียงห้อมล้อมรอบทั่วกายของเราทั้งหมด กำหนดจิตทรงอารมณ์ไว้ ทรงอารมณ์พระนิพพาน กำหนดว่าเรายกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานสว่าง กำหนดทรงอารมณ์ กำหนดรู้ในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพสว่าง กำหนดรู้ในอารมณ์แห่งอรหัตผล คือพิจารณาว่าเรามีความพึงพอใจในพระนิพพาน จิตเราตัดภพจบชาติ ตัดความยินดี ตัดความอาลัยในชาติภพ ในการเป็นมนุษย์ ในการเป็นเทวดา ในการเป็นพรหม ในการเป็นอรูป จิตตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพานเพียงจุดเดียว ทรงอารมณ์ นิพพานัง ปรมังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง กำหนดจิตเห็นอทิสมานกายยิ่งสว่างขึ้นใสขึ้น

ในการฝึกของวิชาธรรมกาย ท่านจะเน้นว่าดับหยาบไปหาละเอียด ก็คือดับภาพนิมิตที่มันยังมีมลทิน ที่มันพร่ามัว เมื่อเพิกภาพนิมิตที่มันไม่ชัด เมื่อปรากฏกำหนดภาพนิมิตขึ้นใหม่ยิ่งใสขึ้น ใสแล้วเราเพิกภาพที่ใสแล้วทิ้ง กำหนดภาพใหม่ที่ยิ่งใสขึ้นไปอีก สว่างขึ้นไปอีก เรียกว่าดับหยาบไปหาละเอียด ดังนั้นคุณภาพในการกำหนด ในความเป็นกายทิพย์ก็ดี ญาณเครื่องรู้ทั้งหลายก็ดี เราสามารถที่ค่อยๆเพิ่มความชัดขึ้น ดับหยาบไปหาละเอียด ชัดขึ้นสว่างขึ้น สว่างขึ้นแล้วก็เพิกก็คือ ดับภาพนั้น ดับนิมิต ดับความรู้สึกของกายที่มีความชัดเท่านั้น ให้ใสขึ้นอีก ยิ่งสว่างขึ้นอีก ยิ่งใสขึ้นอีก ยิ่งสว่างขึ้นอีก

กำหนดน้อมจิตตามไปนะ ภาพยิ่งชัดขึ้น ใสขึ้น สว่างขึ้น อทิสมานกายยิ่งชัดเจนขึ้น รัศมีแสงสว่างกายทิพย์ กายพระวิสุทธิเทพยิ่งสว่างเป็นเพชรประกายพรึกมากขึ้น สว่างชัดเจนอย่างยิ่ง ทรงอารมณ์ไว้ จากนั้นกำหนดจิตต่อไปนะ ขอบารมีครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้า ขอเมตตามาปรากฏในนิมิต ในญาณทัศนะของข้าพเจ้า ครูบาอาจารย์ พระอริยเจ้า พระอริยสงฆ์ ขอท่านจงมาปรากฎเฉพาะเป็นปัจจัตตังของข้าพเจ้าด้วยเถิด กำหนดใช้อทิสมานกายกราบทุกท่านทุกพระองค์ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาก็เป็นวาระที่ครบรอบหลวงพ่อสดท่านมรณภาพครบ 64 ปี เราก็กำหนดจิตกราบท่าน กำหนดจิตกราบหลวงพ่อฤาษี กราบหลวงปู่ปาน กราบหลวงปู่มั่น กราบสมเด็จโต กราบครูบาอาจารย์ทุกท่านทุกพระองค์ที่ปรากฏมาในนิมิต อารมณ์จิตเรามีความผ่องใส กำหนดความเป็นกายพระวิสุทธิเทพสว่างขึ้นใสขึ้นไปอีก พิจารณาอารมณ์ปฏิบัติ อารมณ์พระกรรมฐานของเรา ใจของเรายิ่งดีในพระนิพพานไหม จิตเราละ วางกิเลสในขณะนี้ในขณะที่ปฏิบัติ ความลังเลสงสัยวิจิกิจฉา ในมรรคผล ในพระนิพพานไม่มีในจิตของเรา จิตตานุภาพจากการปฏิบัติ กำลังแห่งอภิญญาสมาบัติ เมื่อจิตเรายิ่งสะอาดบริสุทธิ์จากกิเลส กำลังอภิญญาจิตยิ่งปรากฏ รัศมีกายยิ่งสว่างมากเท่าไหร่ อภิญญาสมาบัติยิ่งปรากฏ จิตยิ่งมีความผ่องใสเป็นสุขมากเท่าไหร่  อภิญญาสมาบัติยิ่งปรากฏ ผลของอิทธิฤทธิ์ต่างๆเกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ ความสะอาด ยิ่งเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าแม้เพียงชั่วคราว ความศักดิ์สิทธิ์ของจิตก็ปรากฏขึ้น ยิ่งทรงอารมณ์ฌาน มีความตั้งมั่น มีความปราณีต มีความเบิกบานผ่องใสมากเท่าไหร่ ผลแห่งจิตตานุภาพของจิต ความอัศจรรย์ยิ่งปรากฏ กำหนดทรงอารมณ์กายพระวิสุทธิเทพสว่างเจิดจ้า จิตเบิกบานเป็นสุข จิตสะอาดจากกิเลส จิตตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพาน แสงสว่างฉัพพรรณรังสี รัศมีกายเราสว่างเจิดจ้าอย่างยิ่ง ยิ่งสว่างเจิดจ้าจิตยิ่งเป็นสุข จิตยิ่งเป็นสุขยิ่งสะอาดจากกิเลสทั้งปวง ทรงอารมณ์ไว้ กำหนดว่าแสงสว่างรัศมีกาย เป็นฉัพพรรณรังสีรัศมีกำลังฤทธิ์ ตบะเดชะแห่งจิตมีกำลังในการประหัตประหารสรรพกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง สังโยชน์ 10 ให้เป็นสมุทเฉทปหานขาดสะบั้น ความอาลัยในอารมณ์ห่วงหาอาวรณ์ทั้งหลาย จิตอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด

เมื่อกำหนดในอารมณ์ ในความรู้สึก กำหนดพิจารณาดูจิตของเราเอง จิตสะอาดจากกิเลส ก็รู้ว่าสะอาดจากกิเลส การย้อนกลับมาพิจารณาดูจิต ดูธรรมในอารมณ์นั้นก็เป็นแนวทางของมหาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งผู้ปฏิบัติพึงที่จะต้องทบทวนจิตของเราไว้เสมอ รู้อารมณ์จิตของเรา รู้การประคับประคองชำระล้างทำความสะอาดจิต ให้มีความผ่องใสจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง จากกิเลสทั้งปวงไว้ จิตผ่องใสกายทิพย์ยิ่งสว่างผ่องใส ทุกสิ่งสัมพันธ์เชื่อมโยง ยิ่งปฏิบัติยิ่งลึกซึ้งแตกฉาน เข้าใจเหตุผลในการปฏิบัติแต่ละจุด อธิษฐานจิตต่อหน้าสมเด็จองค์ปฐม พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์บนพระนิพพาน ขอธรรมะในจิตของข้าพเจ้า จงรุ่งเรืองเติบโตในยุคสมัยแห่งองค์พระสมณโคดม พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 แห่งภัทรกัปนี้ ขอการปฏิบัติของข้าพเจ้าจงมุ่งลัดตัดตรงสู่มรรคผลพระนิพพาน ขอปัญญาญาณบารมีจงมีความเข้าใจแตกฉานลึกซึ้งในธรรม ธรรมอันละเอียดปราณีตลึกซึ้งก็ขอให้เข้าใจอย่างง่ายดาย ธรรมอันมีพื้นฐานเป็นพื้นก็ขอจงเข้าใจได้อย่างพิสดารลึกซึ้งแตกฉานเพิ่มพูน กำลังแห่งปฏิสัมภิทาญาณจงปรากฏขึ้นในจิตของข้าพเจ้าทุกคน ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอความดีในจิตของข้าพเจ้า จงส่งผลต่อชีวิตในขณะที่ยังมีขันธ์ 5 บารมีทั้งหลายจงก่อเกิด สายบุญ สายบารมี สายกุศล สายทรัพย์ สายสมบัติจงรวมตัวกัน บุญจงส่งผลอัศจรรย์ทางใจ ความคล่องตัวทั้งหลาย ความมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง  ความสุขความร่มเย็น กระแสเมตตาจงปรากฏในชีวิตของข้าพเจ้า

กำหนดเมื่ออธิษฐานแล้ว กำหนดให้กายเรา สว่างเอิบอิ่ม สว่างเจิดจ้า อารมณ์ใจเป็นสุขผ่องใส จากนั้นน้อมจิตอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ พระโพธิสัตว์ พระมหาโพธิสัตว์ เทพพรหมเทวา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอตั้งจิตโมทนาเป็นมหามุทิตาจิตอันไม่มีประมาณ ยินดีในบุญกุศล มหาโมทนาบุญในทุกความดีทุกกุศล ของทุกท่านทุกรูปทุกงาม ขอให้กำลังบุญอันเกิดขึ้นจากโมทนา การยินดี การมุทิตาจิต กำลังบุญอันเกิดขึ้นนี้ จงหลั่งไหลรวมสู่กายทิพย์ กายพระวิสุทธิเทพของข้าพเจ้าด้วยเถิด กระแสความดี สายธารแห่งกุศลที่ปรากฏขึ้นเป็นพลังงาน หลั่งไหลรวมลงสู่กายทิพย์ของเรา น้อมจิตอธิษฐานว่า ขอให้กระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพาน กระแสแห่งบุญทั้งหลายที่เราน้อมรวมโมทนา เป็นมหาโมทนาอันไม่มีประมาณ ขอจงรวมและหลั่งไหลลงจากพระนิพพาน ไหลลงสู่โลกมนุษย์ ชำระล้างกระแสความโลภ โกรธ หลง ความอาฆาต พยาบาท ความอดอยาก ยากเข็น ศึกสงคราม กระแสกรรม กระแสบาปเคราะห์ทั้งหลาย ขอให้สายธารแห่งกุศล สายธารกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพาน จงหลั่งไหลมา ชโลมลงสู่โลกชำระล้าง การเบียดเบียน ความทุกข์ กระแสบุญจงชำระล้างโลก  ชำระล้างความโกรธ โลภ หลงจากจิตใจของมนุษย์และสัตว์ มีแต่ความเมตตา มีแต่ความรัก มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา ให้โลกเข้าสู่ยุคชาววิไล ชำระล้าง ก่อให้เกิดสันติภาพ ความสงบสุข ความอุดมสมบูรณ์ ความมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และก็น้อมจิตน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาที่กายเนื้อของเรา ที่บ้านเรือนเคหะสถานที่ กิจการธุรกิจ ที่ทำงานของเรา น้อมกระแสลงมาเป็นแสงสว่างสีขาว เป็นประกายพรึก ระยิบระยับคลุมกายเนื้อ คลุมสถานที่ คลุมบุคคลที่เรารักที่เราเป็นครอบครัว ที่เราห่วงใย กระแสความสุขความเจริญจงปรากฏ สายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ จงหลั่งไหลลงมา สู่ชีวิตของเราทุกคน เจริญกรรมฐานแล้วชีวิตรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ มีแต่ความคล่องตัว สายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมี บุญส่งผลทันใจ

จากนั้นกำหนดจิตนะ ว่าขอให้การปฏิบัติธรรมของเรานี้ ทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพาน เป็นกายพระวิสุทธิเทพอยู่ แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดวงจิตดวงวิญญาณทั้งหลาย น้อมกราบกุศล การปฏิบัติเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา บูชาคุณพ่อแม่ บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณทุกท่าน บุญที่ได้ถวายมหาสังฆทาน จำนวนมากมายมหาศาล อานิสงส์ขอจงเกิดทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พระนิพพานสมบัติ ความเป็นทิพย์ขอจงปรากฏและส่งผลอัศจรรย์ทันใจ แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลต่อไป น้อมถวายให้กับทุกท่านบนอรูปพรหม ทุกท่านทุกดวงจิตบนพรหมโลกทั้ง 16 ชั้น ทุกท่านทุกดวงจิตบนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ทุกท่านทุกดวงจิต สรรพสัตว์ที่เป็นมนุษย์และสัตว์ที่มีกายเนื้อทั้งหลายทั่วจักรวาล รุกขเทวดา ภุมเทวดาทั้งหลายทั่วจักรวาล ภพที่เป็นเมืองลับแล บังบด มิติทับซ้อนทั้งหลาย ทุกดวงดาว ทุกเอกภพ ดวงจิตที่เป็นโอปปาติกะ สัมภเวสีทั้งหลาย ขอกระแสบุญจงแผ่สว่าง สลายล้างอารมณ์ความอาฆาตพยาบาท จองเวร สลายล้างอารมณ์จิตอันเป็นอกุศล อารมณ์จิตอันโหดร้ายทารุณ สลายล้างเปรต อสุรกายทั้งหลาย ขอกระแสบุญกุศลจนแผ่ สลายล้างความอดอยากหิวโหยดุร้าย แผ่เมตตาต่อไปยังสัตว์นรกทั้งหลาย น้อมกระแสบุญกุศลส่งตรงถึงพระยายมราช นายนริยบาลทุกคน ขอจงมีกำลังแห่งบุญกุศล ที่เราสร้างไว้ดีแล้ว บำเพ็ญไว้ดีแล้ว ถึงทุกท่านทุกรูปทุกงาน ขอจงเกิดบุญฤทธิ์อิทธิฤทธิ์ ท้าวมหาราชทั้ง 4  เทวดาที่ท่านเป็นอินทกะทั้งหลาย พระอินทร์ ท่านท้าวสหัมบดีพรหม ท่านผู้เป็นใหญ่ทั้งหลายในทุกชั้นทุกภพทุกภูมิ เมืองพญานาค เมืองบังบด ขอกระแสบุญจงส่งถึงท่านโดยตรง

จากนั้นกำหนดจิตอธิษฐาน ขอให้เทวดา ท่านผู้มีพระคุณ ที่ท่านสงเคราะห์และปกป้องเราในขณะเจริญกรรมฐานจงปรากฏในญาณเครื่องรู้ จากนั้นกำหนดจิตแผ่เมตตา น้อมแสงสว่างถวายเป็นกระแสกุศลพิเศษถึงท่าน ขอให้ท่านเกิดบุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ เทพฤทธิ์เต็มกำลัง และเมตตาปกปักรักษาคุ้มครองช่วยเหลือเราเต็มกำลังด้วยเถิด จากนั้น เรากราบลาพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ เทพพรหมเทวาทุกพระองค์ น้อมจิตกราบ แยกอทิสมานกายกราบ เมื่อกราบลงแล้วก็ กำหนดจิตว่าการปฏิบัติของเรามีความละเอียดปราณีต งดงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด อารมณ์จิตเราเดินในฌาน ในญาณ เดินในกำลังของทั้งธรรมกาย ทั้งมโนมยิทธิ ด้วยกำลังพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ เทวดานุภาพ จิตเราฝึกไว้ดีแล้ว จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว ย่อมยังประโยชน์มาให้ ขอกำลังจิต จงเพาะบ่มสะสมเป็นตบะเดชะบารมี มีแต่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพิ่มพูนขึ้น ผ่องใสขึ้น ละเอียดขึ้น เมื่อกราบลาแล้ว ก็พุ่งจิตกลับมาที่กายเนื้อ กำหนดกายเนื้อกายทิพย์ผนึกรวม แสงสว่างรัศมีแผ่สว่างจากกายเนื้อและกายทิพย์ ใจเอิบอิ่มผ่องใสสว่าง น้อมนำบุญมาสู่ชีวิตของกายเนื้อ สำเร็จเรียบร้อย จิตเอิบอิ่มผ่องใส กระแสธรรมที่ฝึกที่ปฏิบัติ ชำระล้าง ฟอกธาตุขันธ์จากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง บุญบารมีมารอ มาสะสมรวมตัว ให้เกิดความคล่องตัวทางโลก เจริญ มีปัญญาพิจารณาละเอียดลึกซึ้งในธรรม กายเนื้อกายทิพย์สว่าง มีสีรุ้งประกายพรึกแผ่สว่าง จิตเอิบอิ่ม ตั้งจิตโมทนาสาธุ กับกัลยาณมิตรที่ฝึกปฏิบัติร่วมกันในวันนี้ และที่มาฟังต่อปฏิบัติต่อในภายหลัง ใจเรายินดีกับทุกความดีของผู้ที่เข้าถึงธรรม ได้ธรรมะ ได้แสงสว่าง  ได้ดวงธรรม ได้ดวงแก้ว การปฏิบัติที่เราฝึกนี้ ถือว่าเป็นขั้นสูง เกิดผลทั้งในเรื่องมรรคผล ทั้งในเรื่องของชีวิตความรุ่งเรืองในทางโลก ความมีสุขภาพดี เรายินดีในการปฏิบัติ มีธรรมฉันทะในการปฏิบัติ มีความเพียรในการปฏิบัติไม่ท้อถอย สำหรับวันนี้ก็ขออนุโมทนาบุญกับทุกคน พบกันใหม่ในวันอาทิตย์หน้า ขอให้เราทุกคนตั้งใจปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อาจารย์ตั้งใจสอนทุกอาทิตย์ เราก็ตั้งใจฝึกให้ได้ทุกอาทิตย์ ตั้งใจอย่าไปเบื่อ อย่าไปหน่ายในการปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติไปจนกระทั่งตาย จนกระทั่งละจากขันธ์ 5 นี้ จนกระทั่งไปปรากฏอยู่บนพระนิพพาน แน่ ถึงถือว่าไว้ใจได้ มีความเพียรไว้ทุกคน ยิ่งมีความเพียรมากเท่าไหร่ ยิ่งมีจิตเคารพนอบน้อมกตัญญูต่อพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มากเท่าไหร่ ความก้าวหน้าในธรรมยิ่งปรากฏ สำหรับวันนี้ สวัสดี ใครมีคำถามอะไรก็สามารถสอบถามได้ในกลุ่มไลน์ ขอบคุณมากครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

ถอดเสียงและเรียบเรียง โดย คุณ Wannapa

You cannot copy content of this page